วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน

การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning)

สำหรับเด็กปฐมวัย
               ช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์คือ  แรกเกิดถึง 7 ปี  หากมาส่งเสริมหลังจากวัยนี้แล้วถือได้ว่าสายเสียแล้ว เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงวัยนี้จะพัฒนาไปถึง 80 % ของผู้ใหญ่  ครูควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก  ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม  ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการเหมาะสม  เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ
               สมองของเด็กเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆเท่า เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ  สิ่งที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลเข้าไปกระตุ้นสมองเด็กทำให้เซลล์ต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อต่างๆอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น  สมองจะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงอายุ 10 ปีจากนั้นสมองจะเริ่มขจัดข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทิ้งไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
               การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning) เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ 3 ประการ คือ 1.)การทำงานของสมอง  2.)การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก  3.)กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยเปิดกว้าง ให้เด็กเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง เนื่องจากสมองเรียนรู้ตลอดเวลา  ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติหรือลงมือกระทำด้วยตนเอง  ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบร่วมมือและผู้เรียนได้เรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐานส่งเสริมให้เด็กไทยได้พัฒนาศักยภาพสมองของเขาอย่างเต็มความสามารถ
การทำงานของสมอง
               สมองเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่  เมื่อคลอดออกมาจะมีเซลล์สมองเกือบทั้งหมดแล้วเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่  สมองยังคงเติบโตไปได้อีกมากในช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี เด็กวัยนี้จะมีขนาดสมองประมาณ 80 % ของผู้ใหญ่  หลังจากวัยนี้ไปแล้วจะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมองอีกแต่จะเป็นการพัฒนาของโครงข่ายเส้นใยประสาท  ในวัย 10 ปีเป็นต้นไปสมองจะเริ่มเข้าสู่วัยถดถอยอย่างช้าๆจะไม่มีการสร้างเซลล์สมองมาทดแทนใหม่อีก  ปฐมวัยจึงเป็นวัยที่มีความสำคัญยิ่งของมนุษย์
               สมองประกอบด้วย เซลล์สมองจำนวนกว่า 1  แสนล้านเซลล์  ลักษณะของเซลล์สมองแต่ละเซลล์จะมีส่วนที่ยื่นออกไปเป็นเส้นใยสมองแตกแขนงออกมามากมายเป็นพัน ๆ เส้นใยและเชื่อมโยงต่อกับเซลล์สมองอื่น ๆ  เส้นใยสมองเหล่านี้เรียกว่า แอกซอน (Axon)และเดนไดรท์ (Dendrite)จุดเชื่อมต่อระหว่างแอกซอนและเดนไดรท์ เรียกว่า ซีนแนปส์ (Synapses)เส้นใยสมองแอกซอนทำหน้าที่ส่งสัญญาณกระแสประสาทไปยังเซลล์สมองที่อยู่ถัดไป  ซึ่งเซลล์สมองบางตัวอาจมีเส้นใยสมองแอกซอนสั้นเพื่อติดต่อกับเซลล์สมองตัวถัดไปที่อยู่ชิดกัน  แต่บางตัวก็มีเส้นใยสมองแอกซอนยาวเพื่อเชื่อมต่อกับเซลล์สมองตัวถัดไปที่อยู่ห่างออกไป  ส่วนเส้นใยสมองเดนไดรท์เป็นเส้นใยสมองที่ยื่นออกไป อีกทางหนึ่งทำหน้าที่รับสัญญาณกระแสประสาทจากเซลล์สมองข้างเคียงเป็นส่วนที่เชื่อมติดต่อกับเซลล์สมองตัวอื่น ๆ เซลล์สมองและเส้นใยสมองเหล่านี้จะมีจุดเชื่อมต่อหรือซีนแนปส์(Synapses)เชื่อมโยงติดต่อถึงกันเปรียบเสมือนกับการเชื่อมโยงติดต่อกันของสายโทรศัพท์ตามเมืองต่าง ๆ นั้นเอง
               จากการทำงานของเซลล์สมองในส่วนต่าง ๆ  ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลรอบตัวและสร้างความรู้ขึ้นมาได้นั้นคือ  เกิดการคิด  กระบวนการคิด  และความคิดขึ้นในสมอง  หลังเกิดความคิดก็มีการคิดค้นและมีผลผลิตเกิดขึ้น  ยิ่งถ้าเด็กมีการใช้สมองเพื่อการเรียนรู้และการคิดมากเท่าไร  ก็จะทำให้เซลล์สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองใหม่ ๆ แตกแขนงเชื่อมติดต่อกันมากยิ่งขึ้น  ทำให้สมองมีขนาดใหญ่ขึ้นโดยไปเพิ่มขนาดของเซลล์สมองจำนวนเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง  สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กพบว่า  ทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา  10 ปีแรก  ดังนั้นถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ  การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือจะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง  และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก  ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก
               สมองมีหลายส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันแต่ทำงานประสานกัน  เช่นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ  และรับรู้การเคลื่อนไหว สี รูปร่างเป็นต้น  หลายส่วนทำหน้าที่ประสานกันเพื่อรับรู้เหตุการณ์หนึ่ง  เช่น  การมองเห็นลูกเทนนิสลอยเข้ามา  สมองส่วนที่รับรู้การเคลื่อนไหว สี  และรูปร่าง  สมองจะอยู่ในตำแหน่งแยกห่างจากกันในสมองแต่สมองทำงานร่วมกันเพื่อให้เรามองเห็นภาพได้  จากนั้นสมองหลายส่วนทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงให้เราเรียนรู้และคิดว่าคืออะไร  เป็นอย่างไร  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สมองสามารถเรียนรู้กับสถานการณ์หลาย ๆ แบบพร้อม ๆ กันโดยการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เช่น สมองสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์เชื่อมโยงกันได้  การทำเช่นนี้ได้เป็นเพราะระบบการทำงานของสมองที่ซับซ้อน  มีหลายชั้นหลายระดับ  และทำงานเชื่อมโยงกันเนื่องจากมีเครือข่ายในสมองเชื่อมโยงเซลล์สมองถึงกันหมด  เครือข่ายเส้นใยสมองเหล่านี้เมื่อถูกสร้างขึ้นแล้ว  ดูเหมือนว่าจะอยู่ไปอีกนานไม่มีสิ้นสุด  ช่วยให้สมองสามารถรับรู้และเรียนรู้ได้ทั้งในส่วนย่อยและส่วนรวม  สามารถคิดค้นหาความหมาย  คิดหาคำตอบให้กับคำถามต่าง ๆ ของการเรียนรู้และพัฒนาความคิดใหม่ ๆ ออกมาได้อีกด้วย
               นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า  ความเครียดขัดขวางการคิดและการเรียนรู้  เด็กที่เกิดความเครียดจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเช่นเด็กที่ได้รับประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจทำให้เกิดความหวาดกลัว  เครียด  บรรยากาศการเรียนรู้ไม่มีความสุข  คับข้องใจ  ครูอารมณ์เสีย  ครูอารมณ์ไม่สม่ำเสมอเดี๋ยวดี  เดี๋ยวร้าย  ครูดุ  ขณะที่เด็กเกิดความเครียด  สารเคมีทั้งร่างกายปล่อยออกมาจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง  ทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด  เรียกว่า  คอร์ติโซล (Cortisol)  จะทำลายสมองโดยเฉพาะสมองส่วนคอร์เท็กซ์หรือพื้นผิวสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด  ความฉลาด  กับสมองส่วนฮิปโปแคมปัสหรือสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความจำ  ซึ่งความเครียดทำให้สมองส่วนนี้เล็กลง  เด็กที่ได้รับความเครียดอยู่ตลอดเวลา  หรือพบความเครียดที่ไม่สามารถจะคาดเดาได้  ส่งผลต่อการขาดความสามารถในการเรียนรู้  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย  เพราะเด็กมีสมองพร้อมที่จะเรียนได้  แต่ถูกทำลายเพราะความเครียดทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ได้หายไปตลอดชีวิต
การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก
            การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมองจำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการทำงานของสมองและการทำงานให้ประสานสัมพันธ์ของสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา  สมองซีกซ้ายควบคุมความมีเหตุผลเป็นการเรียนด้านภาษา จำนวนตัวเลข วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การคิดวิเคราะห์  ในขณะที่สมองซีกขวาเป็นด้านศิลปะ  จินตนาการ  ดนตรี ระยะ/มิติ หากครูสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กได้ใช้ความคิดโดยผสมผสานความสามารถของการใช้สมองทั้งสองซีกเข้าด้วยกันให้สมองทั้งสองซีกเสริมส่งซึ่งกันและกัน  ผู้เรียนจะสามารถสร้างผลงานได้ดีเยี่ยม เป็นผลงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถแสดงความมีเหตุผลผสมผสานในผลงานชิ้นเดียวกัน
               หลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยควรคำนึงถึงการเรียนรู้ในด้านต่างๆดังนี้  
               1. การเคลื่อนไหวของร่างกาย  ฝึกการยืน เดิน วิ่ง จับ ขว้าง กระโดด การเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆที่เราต้องการ  หรือพวกนักกีฬาต่างๆ
               2. ภาษาและการสื่อสาร เป็นการใช้ภาษาสื่อสารโดยการปฏิบัติจริง จากการพูด การฟัง  การอ่านและการเขียน  เช่น ให้เด็กเล่าสิ่งที่เขาได้พบเห็น ได้ลงมือกระทำ  ฟังเรื่องราวต่างๆที่เด็กต้องการเล่าให้ฟังด้วยความตั้งใจ  เล่านิทานให้ลูกฟังทุกวัน  เล่าจบตั้งคำถามหรือสนทนากับลูกเกี่ยวกับเรื่องราวในนิทาน  อ่านคำจากป้ายประกาศต่างๆที่พบเห็น  ให้เด็กได้วาดภาพสิ่งที่เขาได้พบเห็นหรือเขียนคำต่างๆที่เขาได้พบเห็น   
               3. การรู้จักการหาเหตุผล ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต การเปรียบเทียบ จำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ  จัดหมวดหมู่สิ่งของที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน  เรียนรู้ขนาด ปริมาณ  การเพิ่มขึ้นลดลง  การใช้ตัวเลข 
               4. มิติสัมพันธ์และจินตนาการจากการมองเห็น ให้เด็กได้สัมผัสวัตถุต่างๆที่เป็นของจริง  เรียนรู้สิ่งต่างๆจากประสบการณ์ตรง  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ระยะ  ขนาดตำแหน่ง  และการมองเห็น  สังเกตรายละเอียดของสิ่งต่างรอบตัว  เข้าใจสิ่งที่มองเห็นได้สัมผัส  สามารถนำสิ่งที่เข้าใจออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
               5. ดนตรีและจังหวะ  ให้เด็กได้ฟังดนตรี แยกแยะเสียงต่างๆ  ร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี  ฝึกให้เด็กรู้จักจังหวะดนตรี
               6. การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  ฝึกให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นในด้านการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เข้าใจผู้อื่น  เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น  ปฏิสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และสติปัญญา
               7. การรู้จักตนเอง รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เข้าใจตนเอง จะทำให้ดูแลกำกับพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสม 
               8. การปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
กระบวนการจัดการเรียนรู้
               เด็กปฐมวัยเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ  ลักษณะกระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นแบบเปิดกว้าง จัดให้มีประสบการณ์ที่หลากหลายโดยให้เด็กได้เรียนรู้ตามความสนใจหรือให้เด็กได้แสดงออกในแนวทางที่เขาสนใจ  เรียนรู้แบบปฏิบัติจริงโดยการใช้ประสาทสัมผัสกระทำกับวัตถุด้วยความอยากรู้อยากเห็น ได้ทดลองสร้างสิ่งใหม่ๆ  เด็กเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  เด็กได้การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นกลุ่มเล็กๆ  และเป็นรายบุคคล  การให้เด็กได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลอื่นทำให้เด็กได้ตรวจสอบความคิดของตน  แต่เมื่อมีปัญหาเด็กต้องการคำแนะนำจากผู้ใหญ่  ควรให้เด็กได้เรียนรู้แบบบูรณาการซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเป็นตัวตั้ง  มีการเชื่อมโยงหลากหลายสาขาวิชา  บทบาทของครูเป็นผู้ให้คำแนะนำเมื่อเด็กต้องการและให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสม

ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างไรในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก
                  1. ให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยการลงมือกระทำโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 
                  ในการทำกิจกรรม 1 กิจกรรมพยายามให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่างร่วมกัน
                 การเรียนจากการปฏิบัติจะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจ  
ฉันฟัง  ฉันลืม
ฉันเห็น  ฉันจำได้
ฉันได้ทำ  ฉันเข้าใจ
                   2.  ให้เด็กได้พูดในสิ่งที่เขาคิด และได้ลงมือกระทำ  ถ้าไม่ได้พูดสมองไม่พัฒนา  ต้องฝึกให้ใช้สมองมากๆอย่างมีความสุข  ไม่ให้เครียด
       3.  ผู้ใหญ่ต้องรับฟังในสิ่งที่เขาพูดด้วยความตั้งใจ  และพยายามเข้าใจเขา
สารอาหารบำรุงสมอง
             อาหาร 5 หมู่มีส่วนบำรุงสมองทั้งสิ้น โดยเฉพาะทารกในครรภ์  อาหารจะเข้าไปช่วยสร้างเซลล์สมอง  เมื่อคลอดออกมาแม่ต้องรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่เช่นเดิม  เมื่อลูกโตขึ้นปริมาณของน้ำนมของแม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงต้องให้อาหารเสริม  ถ้าขาดสารอาหารเซลล์สมองจะเติบโตช้าและมีจำนวนน้อยลง  เส้นใยประสาทมีการสร้างไม่ต่อเนื่อง
             ตับและไข่  เด็กปฐมวัยต้องการธาตุเหล็กจากตับหรือไข่ ถ้าเด็กไม่กินตับหรือไข่  และหรือกินในปริมาณที่ไม่เพียงพอจะทำให้ความจำและสมาธิด้อยลง
             ปลา  สารจากเนื้อปลาและน้ำมันปลามีส่วยสำคัญต่อการพัฒนาความจำและการเรียนรู้เสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทที่เรียกว่า เดนไดร์  ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์เรื่องราวที่เรียนรู้จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง อธิบายได้ว่าทำให้เด็กเข้าเรื่องที่เรียนรู้ได้ง่ายและเร็ว
             ควรให้เด็กรับประทานเนื้อปลาทุกวันหรือ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะเนื้อปลาทะเลเช่น ปลาทู  ปลากระพง และปลาตาเดียว เป็นต้น
             ผักและผลไม้  ผักที่มีสีเขียว  เหลืองหรือแดง  อาหารเหล่านี้ให้วิตามินซี เพื่อนำไปสร้างเซลล์เยื่อบุต่างๆทั่วทั้งร่างกายและวิตามินเอทำให้เซลล์ประสาทตาทำงานได้เต็มที่ ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการพัฒนาสมอง
             วิตามินและเกลือแร่ ช่วยในการทำงานของเชลล์ในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน ถ้าขาดจะทำให้เชลล์สมองมีการทำงานลดลงและเชื่องช้าจะกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก
             ปลา ไก่ หมู นมและอาหารทะเล อาหารเหล่านี้มีแร่ธาตุต่างๆเช่น เหล็ก ทองแดง แมกนีเซี่ยม  สังกะสี  ฟอสฟอรัสและไอโอดีน  มีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง
             ผักตระกูลกะหล่ำ(ทำให้สุก) ข้าวสาลี และน้ำนมแม่ สามารถไปยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่อาจจะทำลายเซลล์สมองได้
             การพัฒนาศักยภาพทางสมองของเด็ก ขึ้นกับ อาหาร  พันธุกรรม  สิ่งแวดล้อมต่างๆ และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมีโอกาสได้ใช้ความคิดอยู่เสมอ  ให้เด็กมีโอกาสคิดในหลากหลายแบบเช่น คิดแสวงหาความรู้  คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์  คิดอย่างมีวิจารณญาณ  คิดกว้าง คิดไกล  คิดเชิงอนาคต  คิดนอกกรอบ  ผู้ปกครองหรือครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกการคิดอย่างเหมาะสมกับวัย และมีความสุขในขณะที่ฝึก  สมองจึงจะพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ  

เด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจเหตุผล ลูกไม่รู้ว่าแม่เหนื่อย ลูกไม่เข้าใจ  ลูกก็ซน ช่างซักช่างถาม อย่ารำคาญ อย่าโกรธลูกเลย  รักลูกก็ให้กอดลูกแล้วบอกว่าแม่รักพ่อรัก  แสดงความรักออกมาอย่างจริงใจ  แสดงความใส่ใจต่อลูก  นี้คือยาวิเศษที่ลูกต้องการ คนที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือคนอารมณ์ดี






หนังสืออ้างอิง


คณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ,  สำนักงาน,  สำนักนายกรัฐมนตรี.(2543).  สิ่งแวดล้อมและการ
               เรียนรู้สร้างสมองเด็กให้ฉลาดได้อย่างไร(ฉบับพ่อแม่)  กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา.
เติมพลังสร้างสมองอัจฉริยะ.(2549,เมษายน). นิตยสารใกล้หมอ. 30(4):26 -32.
ทักษิณ  ชินวัตรและคนอื่นๆ. (2548). เด็กไทยใครว่าโง่ :เปลี่ยนการเรียนรู้ของเด็กไทยให้ทันโลก.
               กรุงเทพฯ : สถาบันวิทยาการการเรียนรู้.      
วิทยากร  เชียงกูล.(2548).เรียนลึกรู้ไว: ใช้สมองอย่างมีประสิทธิภาพ.  กรุงเทพฯ: สถาบัน 
               วิทยาการการเรียนรู้.
ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์;และอุษา ชูชาติ.(2545).ฝึกสมองให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ. พิมพ์ครั้งที่ 2
               กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช.
อัญชลี  ไสยวรรณ.(2548) .การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนทักษะการคิดแสวงหาความรู้
               สำหรับเด็กปฐมวัย  ปริญญานิพนธ์  การศึกษาดุษฎีบัณฑิต(การศึกษาปฐมวัย). กรุงเทพฯ
               : บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.ถ่ายเอกสาร.

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

12 เทคนิค พัฒนาทักษะการคิด


12 เทคนิค พัฒนาทักษะการคิดให้ลูก

         เนื่องจากการคิดเป็นรากฐานหรือแกนสำคัญของทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ดังนั้น ถ้าทักษะการคิดไม่ดี ทักษะทั้งสี่ด้านนี้ก็จะไม่ดีตามไปด้วย
มีรายงานการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการสอนเด็กอนุบาลวัย 4 ขวบ ที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในเมือง
ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเมื่อเวลาผ่านไปเด็กกลุ่มที่ได้รับการสอนทักษะการคิดมีความสามารถทางด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนดีกว่าเด็กกลุ่มที่ไม่ได้รับการสอน ดังนั้น การพัฒนาคนจึงควรเริ่มพัฒนาที่ความคิดก่อน ความคิดจะช่วยสร้างทั้ง 4 ด้านที่กล่าวไว้ข้างต้นให้ก้าวหน้ามากขึ้นและยั่งยืน
          โดยทั่วไป เด็กแต่ละคนมีความสามารถในการคิดและการรับรู้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก ซึ่งวิธีการคิด และการเรียนรู้ของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปตามระยะของพัฒนาการตามวัยและระดับการเจริญเติบโตทางสติปัญญา นอกจากนี้ ความสามารถในการสื่อสารของเด็กเป็นองค์ประกอบที่สำคัญติดตามเด็กตั้งแต่อายุ 2 ปี จนถึงอายุ 6 ปี พบว่าเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสาร รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้มักจะมีความบกพร่องทางการคิด และมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและการเขียน โดย เด็กจะอ่านและเขียนช้ากว่าและมีข้อจำกัดในการเชื่อมโยงความคิดและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากกว่าเด็กที่ไม่มีปัญหา
          จะเห็นว่าการพัฒนาทักษะการคิดให้เด็กเป็นงานที่นับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กควรได้รับการเตรียมและปูพื้นฐานการคิด ซึ่งเป็นแกนสำคัญของการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเตรียมพื้นฐานการคิดตลอดจนการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็กให้ปรากฏ

เทคนิคสำคัญในการพัฒนาทักษะการคิด
          ในการพัฒนาทักษะการคิดหรือฝึกเด็กให้เป็นนักคิดที่ดีมีหลายวิธี ซึ่งการเลือกใช้วิธีใดนั้นอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและที่สำคัญจะต้องคำนึงปัจจัยในตัวเด็กเองด้วย เช่น ลักษณะนิสัยใจคอ สิ่งที่เด็กชอบ หรือสนใจระดับสติปัญญา เป็นต้น ซึ่งผู้ฝึกอาจพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่า ควรใช้วิธีใดจึงเหมาะสม
ทั้งนี้เพื่อให้ได้ประสิทธิผลจากการฝึกมากที่สุด ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเทคนิคสำคัญในพัฒนาทักษะการคิด ให้เกิดขึ้น
  1. การฝึกควรเริ่มฝึกเด็กให้คิดจากสิ่งที่ง่ายก่อนแล้วจึงไปสิ่งที่ยากขึ้น
  2. เตรียมเด็กโดยการกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เด็กสนใจสิ่งที่อยู่รอบตัว และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
  3. การฝึกควรกำหนดจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ทุกครั้ง
  4. สร้างนิสัยความอยากรู้ อยากเห็น และการค้นคว้าฝ่ารู้ให้เด็ก
  5. ใช้หัวข้อที่เด็กคุ้นเคย รู้จัก หรือสนใจ แล้วกำหนดเป็นคำถาม
  6. สอนและฝึกให้เด็กรู้จักการเปรียบเทียบ ความเหมือน และความแตกต่าง
  7. ฝึกให้เด็กหัดเชื่อมโยงรูปภาพ สถานการณที่จำลองกับของจริง
  8. จัดเตรียมคำถามที่กระตุ้นให้เด็กหรือจินตนาการ และให้โอกาสเด้กได้สื้อออกมาถึงพลังความนึกคิดควบคู่ไปกับทักษะการแก้ปัญหา
  9. พัฒนาทักษะการคิดควบคู่ไปกับทักษะการแก้ปัญหา
  10. สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กมีอิสระในการคิด การถาม และการแสดงออก
  11. สร้างความมั่นใจ พร้อมทั้งให้กำลังใจ
  12. ให้เวลาในการคิด ไม่เร่งรัด เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความเครียด และไม่ควรจำกัดการคิดของเด็ก
           เทคนิคทั้ง 12 ข้อที่กล่าวมานี้จะช่วยให้การฝึกเด็กให้หัดคิดมีประสิทธิภาพ และพัฒนาเป็นนักคิดที่ดีต่อไป คุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกเป็นนักคิดที่ดี ก็ต้องเตรียมลูกให้พร้อม และฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอตามที่ได้กล่าวไว้ ข้างต้นว่าวิธีการฝึกให้เด็กเป็นนักคิดสามารถทำได้หลายรูปแบบ ซึ่งจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ที่สำคัญคือวิธีการที่ใช้นั้นควรเอื้อให้เด็กได้เรียนรู้และมีโอกาสใช้ความคิดของตัวเอง และควรดำเนินไปตามธรรมชาติ ไม่เร่งรัด แต่มีความสม่ำเสมอต่อเนื่อง รวมทั้งต้องตอบสนองความต้องการตามวัยและพัฒนาการของเด็กเองด้วย






สร้างวัยคิดส์ให้เป็นนักคิด

(modernmom)

           สำหรับลูกน้อยวัย 3-6 ปี นอกจากพัฒนาการด้านร่างกายที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว สมองที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เด็ก เมื่อถึงวัยนี้สิ่งหนึ่งที่จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กคือ การเป็นเด็กช่างคิด เพราะกรที่ลูกเป็นนักคิดนั้นคือพื้นฐานของการเป็นเด็กฉลาด สามารถคิด วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง เมื่อเติบโตเขาก็จะสามารถคิด และหาคำตอบได้ในทุกเรื่องที่ตัวเขาเองสงสัยและสนใจ การส่งเสริมให้ลูกเป็นนักคิดที่ดีนั้นง่ายนิดเดียว แต่จะมีวิธีอย่างไรบ้าง เรามีเทคนิคดี ๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกคนได้ทราบและนำไปใช้กัน

จาก "เด็กช่างคิด" สู่การเป็น "นักคิด"

           คุณแม่หลายคนสงสัยว่า เอ๊ะ? แล้วระหว่างการเป็นนักคิด กับการเป็นเด็กช่างคิดของลูกนั้นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร หากจะให้เปรียบเทียบกันแล้ว เรียกว่าเป็นผลต่อเนื่องกันจะเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น เพราะการที่ลูกน้อยเป็นเด็กช่างคิด จะช่วยทำให้ลูกของคุณแม่นั้น เป็นนักคิดตัวน้อยไปด้วย เพราะเมื่อลูกน้อยเกิดความสงสัยในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว กระบวนการคิดวิเคราะห์ของสมองก็จะเริ่มทำงานขึ้น เพื่อให้ลูกน้อยสามารถหาเหตุผลหรือคำตอบให้กับตัวเอง และเมื่อเด็กหาคำตอบให้กับความสงสัยของตัวเองได้ จะเกิดความรู้สึกสนุกไปกับการคิด ส่งผลให้เป็นเด็กช่างคิด เพราะเขาได้ค้นพบแล้วว่า การที่เขาสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะต้องหาคำตอบเพื่อมาตอบสนองในความสงสัยของเขาให้ได้

การเป็นนักคิดสำคัญอย่างไรต่อลูกน้อย

           แน่นอนว่าการที่ลูกน้อยเป็นนักคิด จะช่วยให้เขาสามารถคิดและหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง และการที่เขาได้ใช้ความคิดอย่างสม่ำเสมอ นั่นหมายถึงสมองของลูกน้อยได้ทำงานอยู่ตลอดเวลา หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าการพัฒนาแบบไม่หยุดนิ่ง เพราะการคิดเปรียบเสมือนแบบฝึกหัดหรืออาหารชนิดหนึ่งของสมอง และเมื่อสมองได้ทำงานอย่างเต็มที่ ก็จะช่วยให้สมองมีกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่รวดเร็ว และเต็มประสิทธิภาพ จึงช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้โลกกว้างและสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวได้อย่างสมวัย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่ลูกได้เรียนรู้เปรียบเสมือนฐานข้อมูลสำคัญ ที่เด็กสามารถดึงมาใช้ได้ในอนาคต เพราะเขาคุ้นเคยจากประสบการณ์เดิมที่เคยผ่านในอดีต ซึ่งเมื่อถึงวันหนึ่งที่ลูกพบเจอกับเหตุการณ์ที่ต้องแก้ปัญหานั้น เขาจะรู้จักใช้การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และสามารถหาคำตอบหรือทางออกให้กับปัญญาต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย

9 How to เทคนิคฝึกลูกเป็นนักคิด

           การพัฒนาทักษะการคิดให้ลูกตั้งแต่วัยเด็กนับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กควรได้รับการปูพื้นฐานทางความคิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาทักษะอื่นๆ ต่อไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คือผู้ที่มีบทบาทที่สุด ในการส่งเสริมความคิดและจินตนาการของเด็ก ซึ่งการฝึกลูกให้เป็นนักคิดที่ดีนั้นมีอยู่หลายวิธี และวันนี้เรามีเทคนิคฝึกลูกเป็นนักคิดมาฝากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

           1. ฝึกคิดจากสิ่งที่ง่ายไปยาก ไม่ยัดเยียดความคิดที่ซับซ้อนจนเกินไป โดยเริ่มจากกิจกรรมง่ายๆ เช่น การฟังเพลง การเล่านิทาน การเล่นของเล่นง่ายๆ เป็นต้น

           2. สร้างนิสัยอยากรู้ อยากเห็น เช่น การพาลูกออกไปพบเจอสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้อย รู้สึกตื่นเต้นและอยากค้นหา

           3. ตั้งคำถามง่าย ๆ ให้ลูกได้ฝึกคิด คุณแม่ลองเริ่มต้นจากการเล่านิทาน ลองตั้งเป็นคำถามง่าย ๆ ให้ลูกได้ลองคิด ลองตอบ เช่น “หมาป่าเข้าบ้านหมู 3 ตัวได้แล้ว หมู 3 ตัวจะทำยังไงดีนะ”

           4. ฝึกให้ลูกรู้จักเปรียบเทียบความเหมือน ความแตกต่าง คุณแม่ต้องสอนลูกว่านี่คือ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลมหรือลูกกลมๆ นี้เรียกว่าส้ม ลูกนี้เรียกว่ามะนาว หรืออาจให้ลูกเล่นกล่องหยอดรูปทรงก็ช่วยได้เช่นกัน

           5. ตั้งคำถามกระตุ้นจินตนาการ โดยการเปิดโอกาสให้ลูกได้สื่อออกมาถึงพลังความคิดและทักษะการแก้ปัญหา อาจจะเริ่มจากการอ่านนิทานด้วยกัน แล้วลองถามลูกเพื่อต่อยอด ด้วยการสร้างนิทานเรื่องใหม่จากเค้าโครงนิทานเรื่องเดิม

           6. พัฒนาทักษะการคิดควบคู่ไปกับทักษะการแก้ปัญหา ลองสมมุติเหตุการณ์ง่ายๆ เพื่อให้ลูกได้ตอบ เช่น "ถ้าลูกหลงทางจะทำยังไงดี" ควรปล่อยให้ลูกได้ตอบคำถามและแสดงความคิดอย่างเต็มที่ อย่าปิดกั้นความคิด และรับฟังทุกคำตอบที่ลูกบอก โดยคุณแม่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพิ่มเติม

           7. สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กมีอิสระในการคิด คุณแม่อาจให้ลูกได้แสดงความคิดหินด้วยคำถามหรือกิจกรรมใกล้ตัว เช่น "วันนี้เราจะทำอาหารอะไรกินกันช่วงกลางวัน" "วันนี้จะเลือกอ่านนิทานเล่มไหน"

           8. สร้างความมั่นใจ พร้อมทั้งให้กำลังใจ เมื่อลูกให้คำตอบใด ๆ คุณแม่ควรชื่นชมกับคำตอบและให้กำลังใจลูก เพื่อให้ลูกเกิดความมั่นใจ แต่ถ้าหากลูกทำในสิ่งที่ผิด คุณแม่ควรอธิบายหรือบอกลูกด้วยท่าทีอ่อนโยน

           9. ให้เวลาคิด ไม่เร่งรัด เพราะเด็กยังไม่สามารถคิดได้รวดเร็วเท่าผู้ใหญ่ การที่เราเร่งหรือคาดคั้น อาจทำให้เด็กเกิดความเครียด จึงไม่กล้าคิดและแสดงความคิดเห็นอีกต่อไป

           เทคนิคทั้ง 9 ข้อที่กล่าวมานี้ ถือเป็นบันไดก้าวแรกที่จะช่วยให้ลูกได้ฝึกคิดอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาสู่การเป็นนักคิดที่ดีในอนาคต ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกเป็นนักคิดที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกฝนให้ลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ แต่ที่สำคัญคือ อย่าปิดกั้น ความคิดของลูก ปล่อยให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ไม่เร่งรัด เพราะคุณพ่อคุณแม่เปรียบเสมือนฐานข้อมูลสำคัญ ที่จะช่วยป้อนข้อมูลที่ถูกต้องให้กับลูกน้อยอีกหนึ่งทาง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.15 No.174 เมษายน 2553


สร้างวัยคิดส์ให้เป็นนักคิด

การเรียนรู้แบบ Brain-Based Learning (BBL)




          เป็นการนำความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสมองไปใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของมนุษย์แต่ละช่วงวัย สมองมนุษย์เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์ต้องใช้ในการเรียนรู้ ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมหาศาล  เซลล์สมองจะถูกสร้างตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ 3-6 เดือนแรก  จนถึง1เดือนก่อนคลอด  ช่วงนี้สมองบางส่วนที่ไม่จำเป็นจะถูกทำลายไปซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า  “พรุนนิ่ง(Pruniny)” และจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงเด็กเล็กและช่วงวัยรุ่น ทั้งนี้หลักการพัฒนาเซลล์สมองขึ้นอยู่กับ  2 ส่วน คือ


           1.ธรรมชาติที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษได้แก่  พันธุกรรม

           2.สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น  อาหาร  อารมณ์  การฝึกฝนใช้สมอง

แนวทางการจัดกระบวนการและสื่อการเรียนรู้แบบ BRAIN-BASE LEARNING

สำหรับโรงเรียน

         1.จัดสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นความสนใจ  กระตุ้นการเรียนรู้ เช่น อุปกรณ์ที่มีสี รูปทรง สถาปัตยกรรม สิ่งที่ผู้เรียนออกแบบกันเอง(ไม่ใช่ครูออกแบบให้) เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกมีส่วนร่วมและมีความเป็นเจ้าของ

         2.สถานที่สำหรับการเรียนรู้เป็นกลุ่มร่วมกัน  เช่นที่ว่าง ๆ สำหรับกลุ่มเล็ก  ซุ้มไม้  โต๊ะหินอ่อนใต้ต้นไม้  ปรับที่ว่างเป็นห้องนั่งเล่นที่กระตุ้นการมีปฏิสัมพันธ์  จัดสถานที่ที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เป็นกลุ่ม

         3.จัดให้มีการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน มีการเคลื่อนไหวกระตุ้นสมองส่วนควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อกับสมองส่วนหน้า ให้สมองได้รับอากาศบริสุทธิ์

       4.ทุกส่วนของโรงเรียนจัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรียนที่ไหนก็ได้  เช่น บริเวณเฉลียง  ทางเชื่อมระหว่างตึก  สถานที่สาธารณะ

         5.เฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย  ลดความเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะชุมชนเมือง

         6.จัดสถานที่หลากหลายที่มีรูปทรง  สี  แสง ช่อง  รู

         7.เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมบ่อย ๆ เพื่อให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างหลากหลายจะกระตุ้นการทำงานของสมอง  เช่น  เวทีจัดนิทรรศการซึ่งควรเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบต่าง ๆ
  
        8.จัดให้มีวัสดุต่าง ๆ ที่กระตุ้นการเรียนรู้  พัฒนาการต่าง ๆของร่างกาย  มากมายหลากหลายและสามารถนำมาจัดทำสื่อประกอบการเรียนรู้ที่มีความคิดใหม่ ๆ โดยมีลักษณะบูรณาการไม่แยกส่วนจุดมุ่งหมายหลักคือ  เป็นวัสดุที่ทำหน้าที่หลากหลาย9.กระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น  เหมาะสมกับสมองของแต่ละคนและสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป

         9.จัดให้มีสถานที่สงบและสถานที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น

        10.จัดให้มีที่ส่วนตัว  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของตน  จัดสถานที่ส่วนตัวของตนและสามารถแสดงความคิด  สร้างสรรค์ของตนได้อย่างอิสระ

        11.ต้องหาวิธีที่จะให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้มากที่สุด สนามเด็กเล่นในชุมชน แหล่งเรียนรู้ในชุมชนและทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต  นำเทคโนโลยี  การเรียนทางไกล   ชุมชน  ภาคธุรกิจ  บ้าน  ต้องนำเข้ามามีส่วนและเป็นทางเลือกในการเรียนรู้              
 
            สำหรับการจัดการศึกษาปฐมวัย   ซึ่งถือว่าเป็นช่วงแรกของการเรียนรู้ทุกโรงเรียนสามารถทำแนวทางการจัดกระบวนการและสื่อการเรียนรู้แบบ BRAIN-BASE LEARNINGไปปรับใช้เตรียมการได้  จะเห็นว่าแนวทางหลายอย่างปฐมวัยจัดอยู่แล้ว  คือ 6 กิจกรรมหลักในกิจกรรมประจำวัน  ส่วนใหญ่สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว  ซึ่งผู้บริหาร  ครู  ผู้สอนควรส่งเสริมและเน้นให้จริงจัง  เพราะเป็นนโยบายระดัชาติ การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้แบบ BBL

1.จัดตกต่างห้องเรียนให้มีสีเขียว  เหลือง  เป็นส่วนใหญ่

2.ห้องเรียนและบริเวณรอบๆห้องเรียนมีต้นไม้ร่มรื่น

3.จัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมกัน  กระตุ้นการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

4.จัดให้มีสถานที่  อุปกรณ์ต่าง ๆอยู่ในสภาพปลอดภัย

5.จัดให้มีการเรียนรู้จากของจริง  ประสบการณ์ตรงโดยผ่านประสาททั้ง 5(การมองเห็น  การได้ยิน  การได้กลิ่น  การได้ชิม  การสัมผัส)

6.จัดให้เด็กได้ฟังเพลงกล่อมเด็ก  เพลงคลาสสิค  ฟังนิทาน  อ่านหนังสือให้เด็กฟัง

7.จัดให้เด็กได้เล่น  ฝึกกับเครื่องเล่นที่มีเสียงดนตรี  อย่างสม่ำเสมอ

8.จัดให้เด็กได้สัมผัสกับศิลปะ

9.จัดให้มีของเล่นที่มีรูปทรง  สี  อย่างหลากหลาย

10.จัดให้มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายทุกวัน

11.เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมบ่อย ๆ เช่น  การจัดห้องเรียน  จัดนิทรรศการ ฯลฯ

12.การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมบ่อยๆจะเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง

13.จัดการเรียนรู้อย่างหลากหลาย  ยืดหยุ่นตามความแตกต่างของผู้เรียน  ยาก  ง่าย ตามสภาพของผู้เรียน

14.จัดให้มีที่เก็บอุปกรณ์และผลงานเป็นส่วนตัวของเด็กแต่ละคน

15.จัดให้มีกิจกรรมร่วมกับชุมชน  เช่น เชิญเป็นวิทยากร  ร่วมกิจกรรมวันสำคัญของชุมชน ฯลฯ

สรุปจากบทความ 
            การเข้าใจเรื่องสมอง  การพัฒนาสมองถูกจังหวะวิธี  ครู ผู้ปกครองที่เข้าใจเด็กมีส่วนช่วยเด็ก  ให้มีศักยภาพ  มีความสามารถอย่างที่ควรจะเป็นควรจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด  อบอุ่นกับเด็ก,มีการจัดสภาพสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย  มีโอกาสได้เล่น และ มีการกระตุ้นการเรียนรู้ที่เหมาะสม 



อ้างอิงจาก  http://jawmodem.multiply.com/journal/item/76

อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน สุดยอดของการพัฒนาสมอง

“การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน สำคัญที่สุดต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก มากกว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคม” นี่คือข้อสรุปจากผลการวิจัยเรื่องการอ่านของประเทศอังกฤษ งานวิจัยนี้นำไปสู่ข้อเสนอแนะว่า ขอให้ผู้ใหญ่ใช้เวลาเพียงวันละ ๒๐ นาทีร่วมกับเด็กๆ ในการอ่านเรื่องที่ทำให้เขาเพลิดเพลิน จะให้ผลดีในทุกๆ ด้าน และจะเป็นบ่อเกิดของการสร้างนิสัยรักการอ่านที่น่าอัศจรรย์
** บทความอ้างอิงจาก http://www.happyreading.in.th/article/detail.php?id=63

เพราะเหตุใด การอ่านนั้นจึงต้องเป็นการอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน

        สมองจะทำงานได้ดีเมื่อเราอยู่ในภาวะที่ผ่อนคลายและไม่เครียด ปกติเมื่อสมองรับข้อมูลโดยผ่านทางประสาทสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย) ข้อมูลเหล่านั้นจะเข้าไปที่ก้านสมองก่อน จากนั้นจึงถูกส่งไปที่ธาลามัส (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองชั้นนอก) เพื่อแยกข้อมูลข่าวสาร ก่อนที่จะส่งไปส่วนอื่นๆ เช่นเมื่อเวลาเราอ่านหนังสือ ธาลามัสจะส่งข้อมูลไปยังเปลือกหุ้มสมองหรือซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเห็น  ซีรีบรัล คอร์เท็กจะแยกแยะว่าจะทำอย่างไรกับข้อมูล เก็บไว้ชั่วคราวหรือส่งต่อไปเก็บไว้ที่หน่วยความจำถาวร การถ่ายทอดข้อมูลจะขึ้นอยู่กับภาวะอารมณ์ในขณะนั้นด้วย
       การอ่านนิทาน การ์ตูน หรือหนังสือที่เพลิดเพลินชวนติดตาม นอกจากสร้างความบันเทิงให้กับผู้อ่านแล้วยังเป็นตัวเชื่อมไปสู่การอ่าน หนังสือแนวอื่นๆ ในเวลาต่อไปด้วย
      ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาการของสมอง ได้เปิดมิติความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกที่เกิดขึ้นในสมอง ว่าการนำข้อมูลทุกชนิดเข้าสู่สมอง ถ้าผ่านอารมณ์ความรู้สึก ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเป็นสมองส่วนความจำ  จะส่งความรู้ทั้งหมดเข้าสู่ระบบความจำถาวรของสมอง ถ้าไม่มีอารมณ์มากำกับการเรียนรู้ หรือไม่เกิดความรู้สึกร่วม สมองส่วนที่เรียกว่า  อมิกดาลา (amygdala)  ซึ่งเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดอารมณ์ต่างๆ  ที่อยู่ใกล้กับฮิปโปแคมปัส  ก็จะไม่ส่งสัญญาณไปยังฮิปโปแคมปัส  แต่จะย้ายข้อมูลนี้ไปสู่หน่วยความจำชั่วคราว  ซึ่งมีระยะเวลาที่คงอยู่ในสมองประมาณ 7-8 นาที  จนถึง 3 วัน แล้วจึงถูกลบ หากข้อมูลนั้นน่าตื่นเต้น สนุก กระทบใจ อมิกดาลาจะส่งสัญญาณไปยังฮิปโปแคมปัสซึ่งจะแปลข้อมูลนี้ว่ามีความสำคัญ ฮิปโปแคมปัสก็จะส่งข้อมูลไปยังพื้นผิวสมองหรือคอร์เท็กซ์   ซึ่งเป็นสมองส่วนคิด และบันทึกเป็นความจำถาวร  กลายเป็นคลังข้อมูลในสมองต่อไป
     ด้วยหลักการทำงานของสมองดังกล่าว การเรียนรู้ที่ไม่ผ่านอารมณ์ ก็จะไม่ช่วยให้สมองเกิดการพัฒนาเท่าที่ควร
         การอ่านที่สร้างความพึงพอใจ ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ จะทำให้เด็กจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้นาน
        เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากเราเอาอะไร”ดีๆ” ใส่เข้าไปในหนังสือสำหรับเด็กอย่างแยบยล เด็กๆจะเรียนรู้ได้น่าอัศจรรย์สักเพียงใด?
        และที่สำคัญก็คือ หลักการของ  emotional brain กล่าวคืออารมณ์ความรู้สึกมีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ และยังมีความพิเศษยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สมองของเรานั้นเรียนรู้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด (unlimited learning)                       
       ยิ่งเมื่อได้เรียนรู้ด้วยความเพลิดเพลิน ก็ยิ่งรู้ว่าโลกแห่งการเรียนรู้นั้กว้างใหญ่ไพศาลขอบเขต หนังสือที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินจึงเป็นการเปิดประตูสูจักรวาลแห่งการ เรียนรู้ที่ไร้ขอบเขต

อ้างอิงจาก  http://www.bbl4kid.org/ourstory